เกษียณ KEEP ON RUNNING

เกษียณ KEEP ON RUNNING

เกษียณ,เกษียณอายุราชการ,ของที่ระลึกเกษียณอายุราชการ
ในปี 1983 ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ของประเทศออสเตรเลีย Westfield  ได้จัดการวิ่งแข่งขันระยะไกล อัลตรามาราธอน ระยะทาง 875 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นจากเมืองซิดนีย์ไปยังเมลเบิร์น ด้วยระยะทางขนาดนี้  ไม่ต้องสงสัยว่า นี่เป็นหนึ่งในรายการวิ่งที่โหดที่สุดในโลก พร้อมกับตั้งเงินรางวัลชนะเลิศไว้สูงลิบ ล่อตาล่อใจนักวิ่งระดับโลกให้เข้ามาแข่งขัน
Cliff Young ชาวนาเจ้าของไร่มันและฟาร์มแกะ นึกสนุกอยากจะลงแข่งขันในรายการนี้ด้วย แต่ปัญหาคือ แกไม่เคยวิ่งแข่งขันรายการใดๆ มาก่อน และก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไร และที่สำคัญคือแกอายุอานามปาเข้าไป 61ปีแล้ว
ชายวัยเกษียณไปสมัครวิ่งแข่งรายการใหญ่นี้ โดยไม่มีสปอนเซอร์ ด้วยความงุนงงสงสัยในอวัยวะที่ใช้คิด ทีมผู้จัดงาน พยายามสอบถามเพื่อเรียกสติสัมปะชัญญะของผู้สมัครหน้าเหี่ยวที่ยืนอยู่ตรงหน้า พลางหยิบยกเหตุผลด้านสุขภาพและเรื่องราวอัปมงคลที่อาจเกิดขึ้นได้ มาหว่านล้อมให้ลุงเปลี่ยนใจ แต่แกยืนยันว่า แกไม่ได้เสียสติอะไร พร้อมกับเล่าว่า แกยังวิ่งไล่ฝูงแกะ 2,000 ตัวในฟาร์มขนาด 2,000 เอเคอร์ของแก อยู่เป็นประจำ หลังจากทนความรั้นของลุง Young ไม่ไหว ทีมงานเลยจำใจให้แกลงแข่งตามต้องการ
ท่ามกลางนักวิ่งปอดเหล็กระดับโลกรุ่นลูก ใส่เสื้อกล้ามสปอนเซอร์จัดเต็ม พร้อมกางเกงขาสั้นโชว์ปลีน่องที่พกพาความฟิตมาเต็มพิกัด ส่วนลุง Young ลงแข่งในชุดทำงานในฟาร์ม พร้อมกางเกงขายาวที่ตัดเป็นรูแบบ manual เพื่อระบายอากาศ  ด้วยความรอบคอบ ก่อนวิ่งแกถอดฟันปลอมออก ด้วยรำคาญที่มันชอบกระทบกันเวลาวิ่ง พอออกสตาร์ท ทุกอย่างก็เป็นไปดังคาด แกโดนทิ้งห่างจากผู้แข่งทั้งหมดแบบไม่เห็นฝุ่น ท่าวิ่งเหยาะแหยะ พร้อมแขนห้อยสองข้างราวกับคนป่วยไม่มีแรงของแกนั้น ยิ่งสร้างความตลกขบขันให้กับผู้คน
ตอนนี้ เสียงของผู้ชมเริ่มแตกออกเป็นหลายฝ่าย
*บ้างก็สดุดีว่า การกระทำของแกนับเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญน่ายกย่อง
*บ้างก็ตำหนิว่า ผู้จัดงานวิ่งไม่ควรให้แกลงแข่ง เพราะอาจต้องจัดงานศพแทน
*บ้างก็ว่า แกเป็นคนบ้า สติไม่ค่อยดี และรอดูว่าแกจะหายบ้าเมื่อไหร่
*บ้างก็หัวเราะเฮฮาขบขัน คิดว่าแกเป็นคนบ้านนอกเร่อร่า นึกอยากจะดังสักครั้งก่อนตาย
แต่ไม่ว่าผู้คนจะมีความเห็นแตกต่างกันอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคิดเหมือนกัน คือ แกไม่มีทางวิ่งจนจบเส้นชัยที่ 875 กิโลเมตรได้…
ในสมัยนั้น การวิ่งระยะทางไกลที่ใช้เวลาหลายๆ วัน นักวิ่งจะมีสูตรทางวิทยาศาสตร์การกีฬาว่าให้วิ่ง 18 ชั่วโมง และพัก 6 ชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อนและรักษาความอึดในระยะทางยาวไกล และนักวิ่งแทบทั้งหมดก็ลงแข่งด้วยวิธีการนี้ทั้งสิ้น
แต่ประเด็นคือ ลุง Young แกไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ โลกของแกไม่เคยมีคำว่าวิทยาศาสตร์การกีฬา แถมยังนึกว่าการแข่งวิ่งรายการนี้ เค้าห้ามนอน!!! สูตรเฉพาะตัวของแกเลยมาแบบบ้านๆ วิ่งมันไปเรื่อยๆ นี่แหละ พอเหนื่อยจนวิ่งต่อไม่ไหว ก็พักด้วยการแอบงีบข้างทาง เฉลี่ยเพียงแค่วันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น!
ในคืนแรก ขณะที่นักวิ่งรุ่นลูกกำลังพักผ่อน แกยังคงวิ่งเหยาะๆ อยู่ด้วยความอดทน เพียงไม่นาน ระยะทางที่ทิ้งห่าง ก็สั้นลงเรื่อยๆ….
พอเข้าเช้าวันที่สอง ท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน และสื่อมวลชนทุกแขนง ชายชราวัยเกษียณ ไม่เพียงแค่ยังวิ่งอยู่ แต่ยังนำเป็นที่หนึ่งในการแข่งขันด้วย!
ด้วยสูตรการวิ่งสุดพิสดาร วิ่ง 23 ชั่วโมง พัก 1 ชั่วโมง (ทำได้ไง!!!!) ไม่ว่านักวิ่งรุ่นลูก ที่ใช้สูตร วิ่ง 18 พัก 6 จะวิ่งอย่างไร ก็วิ่งไล่หนุ่มใหญ่วัยคราวพ่อไม่ทันเสียแล้ว…
เฉลี่ยแล้ว แม้ลุงแกจะวิ่งช้ากว่าใคร แค่ PACE 8 ปลายๆ หรือชั่วโมงละ 6.8 กิโลเมตร แต่เนื่องจากลุงแกวิ่งแบบไม่ยอมหลับยอมนอน ทำให้วันหนึ่ง แกวิ่งได้ถึง 155 กิโลเมตร วันหนึ่ง วิ่งเกือบ 4 มาราธอน!!!
หลายวันผ่านไป…ลุง Young วิ่งเหยาะๆๆๆ เข้าเส้นชัยที่เมลเบิร์น ด้วยเวลา 5 วัน 15 ชั่วโมง กับอีก 4 นาที เร็วกว่าสถิติเดิมที่เคยมีมาถึง 2 วัน และเร็วกว่านักวิ่งที่ตามมาถึง 10 ชั่วโมงเต็ม!!! นักวิ่งที่แก่ที่สุด และวิ่งได้ช้าที่สุด กลายเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งวิ่งที่โหดหินได้ในที่สุด สื่อต่างๆ ประโคมข่าวการชนะเลิศของลุง Young ราวกับเป็นเหตุการณ์ระดับชาติ
หลังจากวิ่งชนะเลิศ ผู้จัดงานเรียก ชายชราหน้าแก่ เหลือเพียงแต่นามสกุลที่ยังหนุ่ม เดินขึ้นไปรับเงินรางวัลบนเวที ลุง Young ชาวนาบ้านนอก ที่ตอนนี้กลายเป็น National Hero เสียแล้ว ทำหน้างงๆ ก่อนจะกล่าวยอมรับด้วยความสับสนว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าการแข่งขันนี้มีเงินรางวัลด้วย ด้วยความที่ไม่ได้มาวิ่งเพราะจะเอารางวัล คิดได้ดังนั้น ลุง Young เลยแจกเงินรางวัล 10,000 เหรียญ ให้กับนักวิ่งคราวลูก ที่หลงเหลือวิ่งเข้าเส้นชัยจนจบ แค่ 5 คน เท่าๆ กัน คนละ 2,000 เหรียญ โดยที่แกไม่ได้เก็บรางวัลไว้เองแม้แต่เซนต์เดียว!
ทุกวันนี้ ท่าวิ่งห้อยแขนของแก กลายมาเป็นท่าวิ่งมาตรฐานท่าหนึ่งของนักวิ่ง ด้วยว่ามันกินพลังงานน้อยกว่า และด้วยมาตรฐานความอึดใหม่ที่ชายชราสร้าง ให้นักวิ่งอุลตร้ามาราธอนรุ่นหลังต้องนอนแค่วันละ 1-2 ชั่วโมง เพิ่มขีดความทรมาณหนักหน่วงขึ้นไปอีกขั้น…
เพื่อเป็นการสดุดีวีรกรรมโลกไม่ลืม รัฐบาลออสเตรเลีย ตั้งชื่อถนนและสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ชื่อว่า Cliff Young เพื่ออุทิศเป็นเกียรติให้กับเขา
….ครับ…..บางครั้ง การไม่รู้ว่าขีดจำกัดของเรานั้นอยู่ที่ไหน ก็ทำให้มนุษย์เรานั้นไม่มีขีดจำกัด KEEP ON RUNNING!!!
บทความอาจจะยาวหน่อยแต่ตั้งใจจะแบ่งปันและหากคิดว่าใครได้อ่านจนจบคงจะมีกำลังใจในเรื่องต่างๆในการก้าวต่อไปนะครับ
#เรื่องดีๆมีไว้แบ่งปัน
#BenjBenjamin
Scroll to Top